Wellness Tourism คือ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ คือ การท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมสุขภาพในทริปนั้นด้วย เช่น การมาพบแพทย์ การมารับคำปรึกษา การมาทำศัลยกรรม มาสปา เป็นต้น

 

Global Wellness Institute รายงานว่า ตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยมีมูลค่าถึง 200,000 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราการเติบโตถึง 7%

แต่ถ้ารวมในปี 2013-2015 ตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย จะอยู่ในอันดับ 13 ของโลก ส่วนในเอเชียอยู่ในอันดับ 4 เป็นรองแค่ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย

 

โดยภาพรวม อุตสาหกรรม Wellness Industry สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทตามลักษณะการให้บริการ คือ บริการการดูแลสุขภาพจากภายในและภายนอก

ตัวอย่างการบริการดูแลสุขภาพจากภายใน เช่น บริการการให้คำปรึกษาด้านโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพ ความสมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจ การแพทย์เชิงป้องกันเฉพาะบุคคล รวมถึงอาหารเสริมและยารักษาโรคทางเลือก เป็นต้น

ในขณะที่การบริการดูแลสุขภาพจากภายนอกจะมีตัวอย่างที่พบเห็นได้บ่อย เช่น ธุรกิจด้านความงามและการชะลอวัย บริการสปาและองค์ประกอบ รวมถึงการท่องเที่ยวแบบ Wellness Tourism

 

 

กิจกรรมที่เกี่ยวกับสุขภาพมีแนวโน้มที่ราคาสูงกว่ากิจกรรมทั่วไปอยู่แล้ว ทำให้นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ยินยอมที่จะจ่ายเพื่อประสบการณ์ล้ำค่า โดยนักท่องเที่ยวเชิงสุขถาพต่างประเทศที่มาไทย ใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 61% ในขณะที่นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพคนไทย ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึง 162%

ที่ตัวเลขสูงขนาดนี้ก็เพราะฐานการใช้เงินระหว่างการท่องเที่ยวแบบปกติของคนไทยมีราคาที่ถูกมาก เมื่อเทียบกับการท่องเที่ยวแบบสุขภาพนั่นเอง

 

การเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพนั้น มีปัจจัยสนับสนุนหลัก 3 ประการ

ประการแรก คือ การขยายตัวของชนชั้นกลางทั่วโลกที่มีระดับรายได้ที่สูงขึ้นซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวมากขึ้นด้วย

ประการที่สอง คือ ผู้บริโภคทั่วโลกหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพของตนเองมากขึ้น ซึ่งถูกกระตุ้นจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases, NCDs) และความเครียดจากการทำงาน

ประการสุดท้าย คือ เทรนด์การท่องเที่ยวที่นิยมการสัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ในแหล่งท่องเที่ยวมากกว่าการท่องเที่ยวแบบดั้งเดิม

สะท้อนถึงแนวโน้มตลาดท่องเที่ยวที่หันมาให้ความสำคัญกับ Wellness Tourism มากขึ้นและจะเติบโตควบคู่ไปกับตลาด Medical Tourism ซึ่งเป็นตลาดหลักของธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่คาดว่าจะเติบโตสูงถึงราว 16% ต่อปีในช่วงปี 2017-2020

 

 

 

ผู้บริโภคในปัจจุบันมีความต้องการประสบการณ์แปลกใหม่ส่งผลให้ Wellness Tourism ต้องพัฒนารูปแบบเพื่อสร้างความแตกต่าง

ยกตัวอย่างเช่น สปาไร้เสียง (silent spa) ของกลุ่มโรงแรม Vamed Vitality World ในออสเตรียคือตัวอย่างสปาที่มีการออกแบบอาคารให้มีความพิเศษโดยมีลักษณะคล้ายกับวิหารของศาสนาคริสต์เพื่อให้แขกที่ใช้บริการรู้สึกว่ากำลังพักผ่อนอยู่ในสถานที่สงบปราศจากเสียงรบกวน ซึ่งเป็นจุดขายแก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการตัดสิ่งรบกวนจากสภาพแวดล้อมภายนอก

นอกจากนี้ ยังมีโปรแกรม On-demand Meditation ของโรงแรม The Benjamin ในนิวยอร์กที่ออกแบบโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท โดยแขกที่เข้าพักสามารถรับบริการได้ตลอดเวลาผ่านระบบโทรศัพท์ภายในโรงแรมซึ่งตอบโจทย์นักท่องเที่ยวเชิงธุรกิจที่ต้องการคลายเครียด

ขณะที่ธุรกิจจัดระเบียบความฝันอย่าง Dream Reality Cinema ในรัฐแคลิฟอร์เนียที่นำผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับความฝันของมนุษย์มาสร้างธุรกิจโดยการจำลองสถานการณ์เพื่อกระตุ้นให้เกิดความฝันที่สร้างความสุข ช่วยแก้ปัญหาการนอนหลับ ลดความเครียด กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ เป็นต้น

นอกจากนี้ธุรกิจด้านสุขภาพแบบดั้งเดิมอย่างสปา ยังได้มีการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพมาสร้างสรรค์บริการที่ฉีกแนวไปจากเดิมโดยสามารถให้บริการแก่ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ผ่านกระบวนการเคมีบำบัดได้ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูสุขภาพผิว ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสดชื่นและมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น โดยสปาลักษณะนี้เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในทวีปยุโรปและสหรัฐฯ

 

ไทยได้มีการลงทุนในธุรกิจหลายประเภทที่สอดคล้องกับเทรนด์ Wellness Tourism มาระยะหนึ่งแล้ว

โดยจุดแข็งของธุรกิจ Wellness Tourism ของไทย คือ การประยุกต์ใช้ทรัพยากรด้านสุขภาพที่มีอยู่อย่างหลากหลาย เช่น ธุรกิจสตูดิโอสอนการทำสมาธิและโยคะที่ประยุกต์ความรู้ด้านการทำสมาธิตามหลักพุทธศาสนา ธุรกิจสปาที่ใช้สมุนไพรหรือทรัพยากรในท้องถิ่นเพื่อสร้างประสบการณ์แปลกใหม่

รวมถึงธุรกิจการสอนทักษะกีฬาประจำชาติอย่างมวยไทยที่กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ยังมีธุรกิจอีกหลายรูปแบบที่แปลกใหม่และเป็นที่นิยมในต่างประเทศที่ไทยควรเล็งเห็นโอกาสในการนำมาประยุกต์เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยให้มีความหลากหลายยิ่งขึ้น

 

โอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ

โดยผู้ประกอบการอาจสร้างสรรค์แนวคิดการให้บริการแบบใหม่ที่มีผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์รับรอง หรือการปรับรูปแบบการให้บริการที่มีอยู่แล้ว เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสมุนไพรที่หาได้ในท้องถิ่น การบำบัดด้วยเสียงธรรมชาติ การบำบัดด้วยกลิ่นหอมระเหย (aromatherapy) การบำบัดด้วยน้ำทะเล (thalassotherapy) การบำบัดด้วยโคลน (mud therapy) หรือการให้บริการห้องซาวน่าที่ผู้ใช้บริการสามารถรับชมการแสดงต่างๆ พร้อมกันไปด้วยระหว่างใช้บริการเพื่อสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจ

 

ธุรกิจโรงแรมสามารถปรับตัวได้ง่าย

เนื่องจากธุรกิจโรงแรมสามารถเข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้าพักได้โดยตรงและต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการ โดยนำเสนอกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวแบบ Wellness Tourism โดยอาจร่วมมือกับธุรกิจอื่นในพื้นที่เพื่อเพิ่มทางเลือกด้านกิจกรรมที่หลากหลายแก่แขกที่เข้าพัก หรืออาจพัฒนารูปแบบการให้บริการที่มีอยู่เดิมให้มีความแปลกใหม่ เช่น บริการสปาด้วยทรายขัดผิวจากทะเล สปาหอยมุกหรือการใช้น้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรท้องถิ่นมาสร้างบรรยากาศเพื่อให้ผู้ใช้บริการรู้สึกถึงความแตกต่างที่ไม่สามารถพบได้โดยทั่วไป

 

ที่มา : SCB Economic Intelligence Center (EIC)



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online